ReadyPlanet.com


การฟ้องคดีล้มละลายในส่วนคดีแพ่ง |ปรึกษาทนาย โทรด่วน 084 607 8980
การฟ้องคดีล้มละลายในส่วนคดีแพ่ง
 
การฟ้องหรือร้องขอลูกหนี้ให้ล้มละลาย
           พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 กำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ที่อาจถูกฟ้องล้มละลายไว้ในมาตรา 9 คือ
            1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
             2. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ส่วนนิติบุคคลต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
              3. ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
 
การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ
 1. ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง
              2.ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ยื่นต่อศาลจังหวัดซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต
 
แบบพิมพ์
 คู่ความจะต้องใช้แบบพิมพ์ตามที่ศาลล้มละลายกลางกำหนด
 
เงินประกันค่าใช้จ่าย
             โจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นฟ้อง
 
ค่าธรรมเนียม
 1.    ค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย   ห้าร้อยบาท
              2.    ค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย สองร้อยบาท เว้นแต่เป็นคำขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ที่
        ขอรับชำระหนี้ไม่เกินห้าหมื่นบาท
 3.    ค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ เรื่องขอรับชำระหนี้ สองร้อยบาท
4.        ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายคิดอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้นแต่ถ้ามีการประนอมหนี้ คิดในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ ให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
 
 
 
 
          ขั้นตอนการดำเนินคดีหลังจากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย
 
1.        ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบองค์ประกอบที่จะถูกฟ้องคดีล้มละลายหรือไม่
· ถ้าเห็นว่าครบ ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
· หากคุณสมบัติไม่ครบองค์ประกอบ หรือ ลูกหนี้นำสืบได้ว่า อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควร
ให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะยกฟ้องทันที  (มาตรา 14)
2.        ระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของเจ้าหนี้และก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้อาจมีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในการโยกย้ายทรัพย์สินไป เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้  ซึ่งศาลจะทำการไต่สวนโดยทันที เมื่อเห็นว่าคดีมีมูล จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว วิธีการนี้เป็นการลดทอนความเสียหาย   ของเจ้าหนี้ได้ในระดับหนึ่ง
3.        เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าไปดูแล ควบคุม กิจการหรือทรัพย์สิน
        หรือสิทธิต่างๆแทนลูกหนี้ทันที รวมทั้งการดำเนินคดีแพ่ง การฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับ
        ทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย โดยลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เอกสารต่างๆเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้
        แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นจริงด้วย มิฉะนั้น ต้องรับโทษอาญาปรับหรือจำคุกหรือ
        ทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล
4.     เจ้าหนี้อื่นอาจแจ้งขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายร่วมด้วยตามประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งศาลจะมีกำหนดเวลาไว้
5.     เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดมีสิทธิในการเข้าเฉลี่ยรับคืนหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมาย จากนั้นจึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เพื่อปรึกษาว่า ควรยอมรับคำขอประนอนหนี้ของลูกหนี้ (กรณีลูกหนี้ยื่นเรื่องขอประนอมหนี้) หรือ ควรให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย รวมทั้งวิธีจัดการทรัพย์สินด้วย
6.      ศาลจะทำการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เพื่อทราบฐานะทางการเงิน เหตุผลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ความประพฤติ จากนั้นจึงมีการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กับความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าควรเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือไม่
7.      หลังจากศาลพิจารณาเห็นชอบกับการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับแล้ว จะเริ่มกระบวนการจัดการทรัพย์สินตามข้อตกลงนั้นทันที หากลูกหนี้บิดพลิ้ว ไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในการประนอมหนี้ หรือ ทำการถ่วงเวลาโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ มีเจตนาทุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใด ย่อมมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เช่นกัน
 
 
 
 
 
 
 
กรณีต่อไปนี้ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย (มาตรา 61)
            1. เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวถัดไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
            2. ไม่ลงมติประการใด
            3. ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม
            4. การประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ
           ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ โดยให้ถือว่าการล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
 
ผลหลังจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
           1. ลูกหนี้ต้องขอให้เจ้าพนักงานกำหนดเงินเลี้ยงชีพและหากมีรายได้ในอนาคต ต้องนำส่งให้เจ้าพนักงาน-
               พิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้
           2. การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน
           3. ลูกหนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตเป็นหนังสือ
               แม้แต่การย้ายที่อยู่ก็ต้องแจ้งให้ทราบด้วย
  
วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มลาย
           1.  การประนอมหนี้ได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน
           2. ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามมาตรา 135   เช่น หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว หรือ
หลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้ายหรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในสิบปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สิน
ได้อีกและไม่มีเจ้าหนี้ขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก หรือ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน-พิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น
           3. ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย
           4. ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดาและหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต


 




Legal News

The principle law sources in Thailand